วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

          โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ในการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เป็นไปตามแนวพระราชดำริและบรรลุวัตถุประสงค์ ควรจะได้ดำเนินการโดยมีหลักการสำคัญๆ คือ
1. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นอยู่เสมอว่า โครงการของพระองค์นั้นเป็นโครงการที่มุ่งช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ราษฎรกำลังประสบอยู่ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสถึงความจำเป็นนี้ว่า...
“... ถ้าปวดหัวก็คิดไม่อะไรไม่ออก ...เป็นอย่างนั้นต้องแก้ไขการปวดหัวนี้ก่อน แต่ปวดหัวใช้ยาแก้ปวด ...หรือยาอะไรก็ตามแก้ปวดหัว มันไม่ได้แก้อาการจริง แต่ต้องแก้ปวดหัวก่อน เพื่อที่จะให้อยู่ในสภาพที่จะคิดได้ แล้วอีกอย่างคือแบบ Macroนี้ เขาจะทำแบบรื้อทั้งหมดฉันไม่เห็นด้วย ...อย่างบ้านคนอยู่ เราบ้านนี้มันผุตรงโน้นผุตรงนี้ ไม่คุ้มที่จะไปซ่อม... เอาตกลงรื้อบ้านนี้ ระเบิดเลย เราจะไปอยู่ที่ไหน ไม่มีที่อยู่ ก็ต้องค้ำกันเสียก่อน แล้วค่อยๆ ดูตรงนี้พออยู่ได้ ไปรื้อตรงห้องโน้นแล้วก็ค่อยๆ สร้าง แล้วมารื้อห้องนี้ ... วิธีทำจะต้องค่อยๆ ทำจะไประเบิดหมดไม่ได้...”
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เน้นหลักมุ่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งต้องการแก้ไขปัญหาอย่างรีบด่วน เช่น กรณีเขตพื้นที่อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชาและเป็นพื้นที่ยากจนในเขตอิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่ขบวนการพัฒนาของรัฐยังเข้าไปไม่ถึง ภายหลังจากมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเข้าไปดำเนินการแล้ว ปัญหาความมั่นคงที่เคยมีอยู่ก็ลดน้อยลงและหมดสิ้นไปในที่สุด แม้กระทั่งปัจจุบันโครงการที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า และจะมีผลระยะยาวต่อไป คือ การแก้ไขปัญหาการจราจร และการป้องกันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
2. การพัฒนาต้องเป็นไปตามขั้นตอน ตามลำดับความจำเป็น ประหยัด


เพื่อให้มีรากฐานที่มั่นคงก่อน แล้วจึงดำเนินการเพื่อความเจริญก้าวหน้าในลำดับต่อๆ ไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นการพัฒนาที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในลักษณะการพึ่งตนเอง ทรงใช้คำว่า “ระเบิดจากข้างใน” นั่นคือ ทำให้ชุมชน หมู่บ้าน มีความเข้มแข็งก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำเอาความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนหรือหมู่บ้านที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสได้เตรียมตัวหรือตั้งตัว พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือราษฎรตามความจำเป็นและความเหมาะสมกับสถานภาพ เพื่อที่ราษฎรเหล่านั้นจะได้สามารถพึ่งตนเองได้ และออกมาสู่สังคมภายนอกได้อย่างไม่ลำบาก ดังแนวพระราชดำรัสต่อไปนี้
“...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานที่มั่นคงพร้อมพอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้าง ค่อยเสริมความเจริญ และฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ้มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยะประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้...
การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชน ในการประกอบอาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพ และฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงในต่อไปโดยแน่นอน ส่วนการถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญให้ค่อยเป็นไปตามลำดับ ด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลว และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์...”
3. การพึ่งตนเอง


การพัฒนาตามแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ด้วยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้มีความแข็งแรงที่จะมีแนวคิดในการดำรงชีวิตต่อไปแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการพัฒนาให้ประชาชนสามารถอยู่ในสังคมได้ตามสภาพและความสามารถ “พึ่งตนเองได้” ในที่สุด ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่ง ดังนี้
“...การเข้าใจถึงสถานการณ์ของผู้ที่เราจะช่วยเหลือนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การช่วยเหลือให้เขาได้รับสิ่งที่เขาควรจะได้รับตามความจำเป็นอย่างเหมาะสม จะเป็นการช่วยเหลือที่ได้ผลดีที่สุด เพราะฉะนั้นในการช่วยเหลือแต่ละครั้ง แต่ละกรณีจำเป็นที่เราจะพิจารณาถึงความต้องการและความจำเป็นก่อน และต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่เราจะช่วยให้เข้าใจด้วยว่าเขาอยู่ในฐานะอย่างไร สมควรที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร เพียงใด อีกประการหนึ่งในการช่วยเหลือนั้น ควรยึดหลักสำคัญว่า เราจะช่วยเหลือเขาเพื่อให้เขาสามารถช่วยตนเองได้ต่อไป...”
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เน้นหลัก “การพึ่งตนเอง” เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนของราษฎร เช่น โครงการธนาคารข้าว โรงการธนาคารโค-กระบือ โครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ “หุบกระพง” อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยทำกิน และรวมตัวกันในรูปของกลุ่มสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนและการทำมาหากินร่วมกัน เป็นต้น นอกจากนั้น โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในระยะหลังล้วนแต่เพื่อให้ประชาชนสามารถช่วยตัวเองได้ เพราะเป็นโครงการที่สนับสนุนให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพให้ได้ผลและมีประสิทธิภาพ เช่น โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การให้การอบรมความรู้สาขาต่างๆ ทั้งด้านการเกษตรและศิลปาชีพพิเศษ เป็นต้น
4. ภูมิสังคม


การพัฒนาตามแนวพระราชดำรินั้น จะต้องให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนั้นๆ เนื่องจากแต่ละแห่ง คนไม่เหมือนกัน ขนบธรรมเนียมประเพณีก็ไม่เหมือนกัน ทรงใช้คำว่า “ภูมิสังคม” คือ ทรงดูลักษณะภูมิศาสตร์และลักษณะของสังคม ไม่ใช่ว่าเอาอะไรที่ทันสมัยมากๆ เข้าไปให้ชาวบ้าน ทั้งที่เขาไม่สามารถใช้ได้ หรือพยายามที่จะทำการเพาะปลูกบนเขา หรือพื้นที่แห้งแล้งให้ได้ อย่างนี้ถือว่าเป็นการดำเนินการที่ผิด พระองค์ทรงชี้แนะพวกเราอยู่ตลอดเวลาว่า การดำเนินการต่างๆ นั้น ต้องให้สอดคล้องกัลป์ลักษณะภูมิสังคม ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า
“... การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศตามสังคมวิทยา คือ นิสัยใจคอของคนเรา จะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไป ไปช่วย โดยที่จะคิดให้เขาเข้ากับเราไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าไปแล้ว เราเข้าไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้ ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง”
 
5. เรียบง่าย ประหยัด


ในการพัฒนาและช่วยเหลือราษฎรทรงใช้หลักในการแก้ไขปัญหาด้วยธรรมชาติ เรียบง่าย และประหยัด ราษฎรสามารถทำได้เอง หาได้ในท้องถิ่น และประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้น มาแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องลงทุนสูง หรือใช้เทคโนโลยีที่ยุ่งยากนัก ดังที่นายสุเมธ ตันติเวชกุล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้กล่าวไว้ว่า...
“วิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ นั้น ทรงใช้ความเรียบง่าย ใช้ธรรมชาติเข้าแก้ไขกันเองอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน จะทรงสวมวิญญาณของเกษตรกรเข้าไปแก้ไขปัญหา ทรงตรัสอยู่เสมอว่า อย่าได้เอาอะไรที่ชาวบ้านไม่สามารถทำได้ไปยัดเยียดให้เขา วิธีการแก้ไขปัญหาของพระองค์นั้น บางครั้งเรียบง่ายจนกระทั่งเรานึกไม่ถึง ทรงรับสั่งว่า จะเอาอธรรมสู้อธรรม อย่างกรณีเรื่องของน้ำเน่านั้น ก็ทรงเอาผักตบชวามาสู้แล้วก็สู้ได้ผลด้วย เช่น ที่บึงมักกะสัน ที่น้ำเคยเน่าเป็นอย่างมาก เดี๋ยวนี้น้ำดีขึ้นมาก”
6. การส่งเสริมความรู้ และเทคนิควิชาการสมัยใหม่ที่เหมาะสม


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าควรที่จะสร้างเสริมสิ่งที่ชาวบ้านในชนบทขาดแคลนและเป็นความต้องการ ซึ่งก็คือความรู้ในการทำมาหากิน การทำเกษตรโดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ พระองค์ทรงเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมี “ตัวอย่างของความสำเร็จ” มีพระราชประสงค์ที่จะให้ราษฎรในชนบทมีโอกาสได้รู้ได้เห็นถึงตัวอย่างของความสำเร็จนี้และนำไปปฏิบัติได้เอง พระองค์จึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเป็นสถานศึกษา ทดลอง วิจัย และแสวงหาความรู้ เทคนิควิชาการสมัยใหม่ที่ราษฎร “รับได้” นำไป “ดำเนินการเองได้” และเป็นวิธีการที่ “ประหยัด” เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการประกอบอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศนั้นๆ เมื่อได้ผลจากการศึกษาแล้วจึงนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้ในการประกอบอาชีพต่อไป พระองค์ทรงปรารถนาที่จะให้ตัวอย่างของความสำเร็จทั้งหลายได้กระจายไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ และสามารถนำไปปฏิบัติได้ผลอย่างจริงจัง
7. การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากในการพัฒนาประเทศในระยะเวลาที่ผ่านมานั้นได้เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่สูงและรวดเร็ว โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศได้เปลี่ยนไปสู่การผลิตที่มุ่งสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นหลัก มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างฟุ่มเฟือย โดยมิได้มีการฟื้นฟูทรัพยากรที่ถูกทำลายให้กลับคืนสู่สภาพเดิม จนในที่สุดได้ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานแนวทางแก้ไขในการพัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาการเกษตร ดังนั้น จึงทรงมุ่งที่จะให้มีการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนควบคู่กับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม เพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในระยะยาว ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งต่อการทำนุบำรุงปรับปรุงสภาพของทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ การประมง ให้อยู่ในสภาพที่มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างมากที่สุด
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เน้นหลักมุ่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งต้องการแก้ไขปัญหาอย่างรีบด่วน เช่น กรณีเขตพื้นที่อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชาและเป็นพื้นที่ยากจนในเขตอิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่ขบวนการพัฒนาของรัฐยังเข้าไปไม่ถึง ภายหลังจากมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเข้าไปดำเนินการแล้ว ปัญหาความมั่นคงที่เคยมีอยู่ก็ลดน้อยลงและหมดสิ้นไปในที่สุด แม้กระทั่งปัจจุบันโครงการที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า และจะมีผลระยะยาวต่อไป คือ การแก้ไขปัญหาการจราจร และการป้องกันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น